วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

เอกลักษณ์ของสังคมไทย

เอกลักษณ์ของสังคมไทย


1. สังคมที่ยกย่องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
    นักวิชาการได้กล่าวถึงประทศไทยว่า "สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เคยไร้กษัตริย์" ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
บ้านเมืองของคนไทยจะต้องมีกษัตริย์ขึ้นปกครอง ในยามที่บ้านเมืองมียุคเข็ญ แผ่นดินว่างจากกษัตริย์
ก็จะต้องมีคนคิดกอบกู้ฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สืบสถาบันพระมหากษัตริย์
ต่อไปมิให้ขาด คนไทยมีทัศนะ ความเชื่อ และค่านิยมที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ดังนี้
    1. ทรงเป็นประมุขของชาติ
    2. ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา
    3. ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
    4. ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของชนในชาติ
    5. ทรงอยู่เหนือการเมืองและความรับผิดชอบทางการเมือง
    6. ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านพระราชพิธีต่างๆเพื่อสืบทอดพระราชประเพณี
    7. ทรงเป็นผู้รักษาธรรมและปฏิบัติธรรมด้วยการอยู่ในศีลธรรมให้เห็นเป็นประจักษ์
2. สังคมที่มีความรักชาติและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
    ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถรักษาความเป็นเอกราช
ของตนไว้ได้จนถึงทุกวันนี้ ความรักชาติจะอยู่ในสายเลือดของคนไทยทุกคน เมื่อประเทศประสบ
ภาวะวิกฤติครั้งใด คนไทยจะรวมตัวกันเพื่อกอบกู้เอกราช มีวีรบุรุษและวีรสตรีจำนวนมากที่ยอมพลี
ชีวิตเพื่อแลกกับความเป็นเอกราชของชาติไทย เช่น สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ชาวบ้านบางระจัน เป็นต้น
รูปแบบการปกครองของไทยมีวิวัฒนามาหลายสมัย จากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาจนถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้
3. สังคมที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนา
     สังคมไทยมีศาสนาพุทธเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาแต่อดีต และเป็นศาสนาที่คนไทย
นับถือมากที่สุด หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิต
เป็นสิ่งที่ช่วยอบรมขัดเกลา ให้ชาวไทยมีเมตตา อ่อนน้อม จิตใจดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนสอนให้พุทธศาสนิกชนเป็นคนดี มีศีลธรรม
ยึดหลักเหตุผลและความเป็นจริง นอกจากหลักคำสอนแล้ว ยังมีประเพณีทางพระพุทธศาสนา
ที่พุทธศาสนิกชนไทยได้ประกอบพิธีกรรม เพื่อกุศลและเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เช่น
ประเพณีทอดกฐิน แห่เทียนพรรษา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนาได้มีบทบาทในการดำเนิน
ชีวิตของคนไทย
4. สังคมเกษตรกรรม
     สังคมไทยมีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม อาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวนา เป็นอาชีพที่สืบทอด
กันมาจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ พัฒนาชาติ เลี้ยงพลเมืองของประเทศให้อยู่ดีกินดี จนเป็น
ประเทศที่ส่งออกอันดับต้นๆของโลก ทำให้ทั่วโลกรู้จักได้รู้จักชาติไทย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสภาพสังคม
เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาประเทศเป็นแบบอุตสาหกรรม จนทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทางการค้า
และเทคโนโลยี แต่สินค้าออกที่สำคัญและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมากที่สุด คือ สินค้าทางด้าน
การเกษตรกรรมนั่นเอง
5. สังคมไทยที่ยึดมั่นในระบบเครือญาติ
     สภาพของครอบครัวไทยเป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวขนาดใหญ่ มีความผูกพันทางสายโลหิต
เกิดความรักใคร่และช่วยเหลือเกื้อกูลกันของบรรดาผู้คนในครอบครัว เพราะการอบรมสั่งสอนมาว่า
พี่น้องหรือญาติจะต้องช่วยเหลือกันและกันดังคำสุภาษิตไทยที่กล่าวว่า "เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ" อันแสดง
ให้เห็นถึงความผูกพันทางสายโลหิต นอกจากนี้แล้วครอบครัวไทยยังเชื่อฟังผู้อาวุโส ผู้มีอายุน้อยกว่า
จะต้องมีความอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ เชื่อฟังผู้ที่มีอายุมากกว่า อันเป็นที่มาของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย

6. สังคมไทยที่เคร่งประเพณีพิธีกรรม
     จากวิถีชีวิตชาวชนบทที่พึ่งพาและผูกพันกับธรรมชาติ จึงให้ความสำคัญกับประเพณีพิธีกรรม ตระหนัก
ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอันเป็นทรัพยากรสำคัญของชีวิต จึงต้องรักษาประเพณีวัฒนธรรม
ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและธรรมชาติเอาไว้ เช่น พิธีแรกนาขวัญ บูชาแม่โพสพ พิธีกวนข้าวทิพย์ เป็นต้น
ประเพณีพิธีกรรมจึงเป็นความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการแสดงความเคารพและกตัญญูต่อ
ธรรมชาติอีกด้วย
7. สังคมที่มีศิลปกรรมประณีตงดงาม
     สังคมไทยเป็นสังคมที่มีศิลปกรรมประณีต งดงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ศิลปกรรมที่ปรากฏในประเทศไทย
เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นหรือสร้างสรรค์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน คือ มีความประณีตงดงาม
โดยเฉพาะผลงานด้านศิลปกรรมของบรรดาช่างสิบหมู่ ซึ่งได้แก่ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างปั้น ช่างหุ่น
ช่างปูน ฯลฯ เพราะบุคคลที่มีความรู้ในงานช่างเหล่านี้จะสร้างผลงานศิลปะต่างๆ ด้วยใจรักและความถนัด
ต้องอาศัยความอดทน ความคิดในการสร้างสรรค์ แม้ว่าศิลปะวัฒนธรรมของไทยจะได้รับแบบอย่างมาจากต่างชาติ
แต่เพราะความสามารถของคนไทยที่สามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนา จนกลายเป็นผลงานที่มีแบบฉบับของตนเอง
ทำให้ต่างประเทศรับรู้ถึงลักษณะของความเป็นไทยได้ เช่น สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นาฎศิลป์
และการดนตรี ภาษาและวรรณกรรม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น