วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

เอกลักษณ์ไทย

เอกลักษณ์ไทย

ความหมายของเอกลักษณ์ไทย
     ตามพจนานุกรม เอก แปลว่า เด่น หนึ่ง เอกลักษณ์จึงเป็นลักษณะเด่นของสังคมหรือลักษณะส่วนรวมของสังคมที่ เห็นเด่นชัด แตกต่างจากสังคมอื่นๆ เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง เช่น วัฒนธรรมไทยไม่เหมือนกับวัฒนธรรมสังคมอื่น แม้วัฒนธรรมของเราจะได้รับอิทธิพลของต่างชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาผสมผสานบ้างก็ตาม เป็นการผสมผสานที่เราได้เลือกสรรวัฒนธรรมเหล่านั้นให้เข้ากับความเชื่อและค่านิยมแบบไทยๆ จนกระทั่งกลมกลืนเข้ากันอย่างแนบสนิทกลายเป็นวัฒนธรรมของไทยที่มีลักษณะเฉพาะของเราแตกต่างไปจากชาติอื่นๆ
           สังคมไทยมีที่มาจากสังคมชนบท จากชุมชนแบบที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  รักสงบ  รักความอิสระ  อ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้คนไทยมีไมตรีต่อผู้อื่น  จนได้รับสมญานามว่า สยามเมืองยิ้มซึ่งชาวต่างชาติต่างชื่นชมในความมีน้ำใจไมตรีของคนไทย  แม้สังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไป และได้รับความเจริญสมัยใหม่ แต่ลักษณะความเป็นกันเองแบบนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่ เป็นเอกลักษณ์ที่เราได้รับจากบรรพบุรุษซึ่งตกทอดกันมา  ดังนั้นเอกลักษณ์ของคนไทยเหล่านี้จึงทำให้สังคมไทยแตกต่างจากสังคมของชนชาติอื่น


เอกลักษณ์ของสังคมไทย

เอกลักษณ์ของสังคมไทย


1. สังคมที่ยกย่องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
    นักวิชาการได้กล่าวถึงประทศไทยว่า "สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เคยไร้กษัตริย์" ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
บ้านเมืองของคนไทยจะต้องมีกษัตริย์ขึ้นปกครอง ในยามที่บ้านเมืองมียุคเข็ญ แผ่นดินว่างจากกษัตริย์
ก็จะต้องมีคนคิดกอบกู้ฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สืบสถาบันพระมหากษัตริย์
ต่อไปมิให้ขาด คนไทยมีทัศนะ ความเชื่อ และค่านิยมที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ดังนี้
    1. ทรงเป็นประมุขของชาติ
    2. ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา
    3. ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
    4. ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของชนในชาติ
    5. ทรงอยู่เหนือการเมืองและความรับผิดชอบทางการเมือง
    6. ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านพระราชพิธีต่างๆเพื่อสืบทอดพระราชประเพณี
    7. ทรงเป็นผู้รักษาธรรมและปฏิบัติธรรมด้วยการอยู่ในศีลธรรมให้เห็นเป็นประจักษ์
2. สังคมที่มีความรักชาติและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
    ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถรักษาความเป็นเอกราช
ของตนไว้ได้จนถึงทุกวันนี้ ความรักชาติจะอยู่ในสายเลือดของคนไทยทุกคน เมื่อประเทศประสบ
ภาวะวิกฤติครั้งใด คนไทยจะรวมตัวกันเพื่อกอบกู้เอกราช มีวีรบุรุษและวีรสตรีจำนวนมากที่ยอมพลี
ชีวิตเพื่อแลกกับความเป็นเอกราชของชาติไทย เช่น สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ชาวบ้านบางระจัน เป็นต้น
รูปแบบการปกครองของไทยมีวิวัฒนามาหลายสมัย จากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาจนถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้
3. สังคมที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนา
     สังคมไทยมีศาสนาพุทธเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาแต่อดีต และเป็นศาสนาที่คนไทย
นับถือมากที่สุด หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิต
เป็นสิ่งที่ช่วยอบรมขัดเกลา ให้ชาวไทยมีเมตตา อ่อนน้อม จิตใจดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนสอนให้พุทธศาสนิกชนเป็นคนดี มีศีลธรรม
ยึดหลักเหตุผลและความเป็นจริง นอกจากหลักคำสอนแล้ว ยังมีประเพณีทางพระพุทธศาสนา
ที่พุทธศาสนิกชนไทยได้ประกอบพิธีกรรม เพื่อกุศลและเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เช่น
ประเพณีทอดกฐิน แห่เทียนพรรษา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนาได้มีบทบาทในการดำเนิน
ชีวิตของคนไทย
4. สังคมเกษตรกรรม
     สังคมไทยมีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม อาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวนา เป็นอาชีพที่สืบทอด
กันมาจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ พัฒนาชาติ เลี้ยงพลเมืองของประเทศให้อยู่ดีกินดี จนเป็น
ประเทศที่ส่งออกอันดับต้นๆของโลก ทำให้ทั่วโลกรู้จักได้รู้จักชาติไทย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสภาพสังคม
เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาประเทศเป็นแบบอุตสาหกรรม จนทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทางการค้า
และเทคโนโลยี แต่สินค้าออกที่สำคัญและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมากที่สุด คือ สินค้าทางด้าน
การเกษตรกรรมนั่นเอง
5. สังคมไทยที่ยึดมั่นในระบบเครือญาติ
     สภาพของครอบครัวไทยเป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวขนาดใหญ่ มีความผูกพันทางสายโลหิต
เกิดความรักใคร่และช่วยเหลือเกื้อกูลกันของบรรดาผู้คนในครอบครัว เพราะการอบรมสั่งสอนมาว่า
พี่น้องหรือญาติจะต้องช่วยเหลือกันและกันดังคำสุภาษิตไทยที่กล่าวว่า "เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ" อันแสดง
ให้เห็นถึงความผูกพันทางสายโลหิต นอกจากนี้แล้วครอบครัวไทยยังเชื่อฟังผู้อาวุโส ผู้มีอายุน้อยกว่า
จะต้องมีความอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ เชื่อฟังผู้ที่มีอายุมากกว่า อันเป็นที่มาของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย

6. สังคมไทยที่เคร่งประเพณีพิธีกรรม
     จากวิถีชีวิตชาวชนบทที่พึ่งพาและผูกพันกับธรรมชาติ จึงให้ความสำคัญกับประเพณีพิธีกรรม ตระหนัก
ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอันเป็นทรัพยากรสำคัญของชีวิต จึงต้องรักษาประเพณีวัฒนธรรม
ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและธรรมชาติเอาไว้ เช่น พิธีแรกนาขวัญ บูชาแม่โพสพ พิธีกวนข้าวทิพย์ เป็นต้น
ประเพณีพิธีกรรมจึงเป็นความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการแสดงความเคารพและกตัญญูต่อ
ธรรมชาติอีกด้วย
7. สังคมที่มีศิลปกรรมประณีตงดงาม
     สังคมไทยเป็นสังคมที่มีศิลปกรรมประณีต งดงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ศิลปกรรมที่ปรากฏในประเทศไทย
เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นหรือสร้างสรรค์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน คือ มีความประณีตงดงาม
โดยเฉพาะผลงานด้านศิลปกรรมของบรรดาช่างสิบหมู่ ซึ่งได้แก่ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างปั้น ช่างหุ่น
ช่างปูน ฯลฯ เพราะบุคคลที่มีความรู้ในงานช่างเหล่านี้จะสร้างผลงานศิลปะต่างๆ ด้วยใจรักและความถนัด
ต้องอาศัยความอดทน ความคิดในการสร้างสรรค์ แม้ว่าศิลปะวัฒนธรรมของไทยจะได้รับแบบอย่างมาจากต่างชาติ
แต่เพราะความสามารถของคนไทยที่สามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนา จนกลายเป็นผลงานที่มีแบบฉบับของตนเอง
ทำให้ต่างประเทศรับรู้ถึงลักษณะของความเป็นไทยได้ เช่น สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นาฎศิลป์
และการดนตรี ภาษาและวรรณกรรม เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภาษาไทย

                                                                      ภาษาไทย   





ภาษาไทย คือ ภาษาพูดที่ใช้สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ ถึงแม้จะมีสำเนียงที่แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการใช้ศัพท์กับบุคคลในระดับต่าง ๆ และอักษรไทยที่ใช้ในภาษาเขียนโดยทั่วไป
ภาษาไทย เป็นภาษาทางการของประเทศไทย และภาษาแม่ของชาวไทย และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทย ภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไต ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน และนักภาษาศาสตร์บางท่านเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ ตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติเนื่องจาก การออกเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคำ และการสะกดคำที่ซับซ้อน นอกจากภาษากลางแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้ ภาษาไทยถิ่นอื่นด้วย
คำว่า ไทย หมายความว่า อิสรภาพ เสรีภาพ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ใหญ่ ยิ่งใหญ่ เพราะการจะเป็นอิสระได้จะต้องมีกำลังที่มากกว่า แข็งแกร่งกว่า เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก แม้คำนี้จะมีรูปเหมือนคำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต แต่แท้ที่จริงแล้ว คำนี้เป็นคำไทยแท้ที่เกิดจากกระบวนการสร้างคำที่เรียกว่า 'การลากคำเข้าวัด' ซึ่งเป็นการลากความวิธีหนึ่ง ตามหลักคติชนวิทยา คนไทยเป็นชนชาติที่นับถือกันว่า ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่บันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล เมื่อคนไทยต้องการตั้งชื่อประเทศว่า ไท ซึ่งเป็นคำไทยแท้ จึงเติมตัว เข้าไปข้างท้าย เพื่อให้มีลักษณะคล้ายคำในภาษาบาลีสันสกฤตเพื่อความเป็นมงคลตามความเชื่อของตน ภาษาไทยจึงหมายถึงภาษาของชนชาติไทยผู้เป็นไทนั่นเอง



พ่อขุนรามคำแหง ได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใน ปีพ.ศ.1826

อักษรไทยสมัยโบราณ


การแต่งกายของไทย

                                                           การแต่งกายของไทย

การแต่งกาย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการแต่งกายของชาวไทยจะเป็นสากลมากขึ้น แต่ก็ยังคงเครื่องแต่งกาย ของไทยไว้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น ในงานพระราชพิธี งานที่เป็นพิธีการ หรือในโอกาสพบปะ สังสรรค์ระหว่างผู้นำ พิธีแต่งงาน เทศกาลและงานประเพณีที่จัดขึ้น หรือในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน ในบางหน่วยงานของราชการ มีการรณรงค์ให้แต่งกายในรูป แบบไทย ๆ ด้วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

การแต่งกายของไทย

          ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะไทย มารยาทไทย ภาษาไทย อาหารไทย และชุดประจำชาติไทย
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณค่า มีความงดงามบ่งบอกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็น "ไทย" ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่คนในชาติ
  การแต่งกายของไทยโดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์ซึ่งมีอายุยาวนานมากกว่า 200 ปีนั้น ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ  
          นับตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง ยุคเริ่มการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ ยุค "มาลานำไทย" และ จนปัจจุบัน "ยุคแห่งเทคโนโลยีข่าวสาร"
           แต่ละยุคสมัยล้วนมีรูปแบบการแต่งกายที่เป็นของตนเองซึ่งไม่อาจสรุปได้ว่า แบบใดยุคใดจะดีกว่า หรือ ดีที่สุด เพราะวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม ล้วนต้องมีการปรับเปลี่ยนบูรณาการไปตามสิ่งแวดล้อมของสังคมแล้วแต่สมาชิกของสังคมจะคัดสรรสิ่งที่พอเหมาะพอควรสำหรับตน พอควรแก่โอกาส สถานที่และกาลเทศะ

การไหว้

งามอย่างไทย ไหว้อย่างไทย
          กราบสวัสดีพ่อแม่พี่น้อง ที่เคารพรักทุกท่านนะครับ วันนี้ชายน้อยขอนำพาพ่อแม่พี่น้องมารู้จักกับ กิริยามารยาทไทย งามอย่างไทย ไหว้อย่างไทยกันนะครับ อ๊าาาาาากกกกกก แอ๊บแบ๊วเป็นที่สุด รับตัวเองไม่ได้ ๕๕๕๕

ข้อความขั้นต้นก็เป็นการเกริ่นนำเข้าบทความที่จะกล่าวถึงในวันนี้แหละ ครับ ซึ่งไม่ได้เป็นคนเขียนเอง (อีกแล้ว - แต่ก็มีเสริมในส่วนที่ขาดล่ะนะ) แต่นำมาจากปฏิทิน ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ของ ธนาคารนครหลวงไทย ครับ เห็นว่ามีประโยชน์ดีเลยนำมาเผยแพร่ต่อครับ 

การไหว้ ถือ ว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทย ที่ตั้งแต่เรียนรู้ที่จะพูดได้ และเริ่มแกว่งไม้แกว่งมือได้ พ่อแม่ทุกคนก็จะต้องสอนลูกให้ยกมือไหว้ และกล่าวคำว่า สวัสดีครับ สวัสดีค่ะ กันก่อนเลย และก็มักจะหลอกล่อว่าให้ไหว้สวย ๆ สิคะ อะไรประมาณนี้ใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ แล้ว เรารู้หรือเปล่า ว่าการไหว้แบบไทย ๆ ที่ว่าสวย ๆ นั้น เค้าต้องทำอย่างไร  
    สมัยผมเป็นเด็ก พอเข้าชั้นประถม ก็จะมีวิชาจริยธรรม ที่จะสอนการไหว้ที่ถูกต้อง ถูกธรรมเนียม พอขึ้นมัธยมก็มีการสอนกันอีกครั้ง เพื่อกันลืม จนจำได้ด้วยร่างกายว่า ไหว้พระ ไหว้ผู้ใหญ่ ไหว้คนอายุเท่ากัน และรับไหว้ ต้องทำอย่างไร แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ยอมรับว่ายังไหว้ถูกอยู่ แต่มือแข็งครับ ไม่ค่อยยกมือไหว้ และก็ชอบพูดสั้น ๆ ว่า "หวัดดีครับ" กลายเป็นนิสัยที่ไม่งามไปเสียแล้ว ซึ่งก็พยายามไม่ให้เผลอเรออยู่ครับ 
การไหว้ การประนมมือไหว้นั้น ฝ่ามือทั้งสองข้างจะต้องทาบทับกัน ปลายนิ้วทาบสนิทกัน ทำหลังมือให้โป่งออกเล็กน้อย ไม่ต้องมากเป็นดอกบัวตูมและไม่แบนราบเป็นใบไม้นะครับ และในการยกมือขึ้นมาไว้ จะมีด้วยกัน ๓ ระดับ ขึ้นอยู่กับว่า ไหว้ใคร คือ 
๑. ไหว้พระ ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะ จรดหัวแม่มือที่กลางหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะที่เหนือหน้าผาก ก้มหัวให้หน้าขนานกับพื้น ค้อมหลังพอประมาณ

๒. ไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส เช่นเดียวกับการไหว้พระ แต่นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จดหว่างคิ้ว

๓. ไหว้บุคคลทั่วไปและผู้เสมอกัน ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะเล็กน้อย หัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก ค้อมหลังพอประมาณ

การกราบพระ แบบ เบญจางคประดิษฐ์
        การกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการกราบที่แสดงความเคารพอย่างสูงสุด ต่อบุคคลที่ควรเคารพนับถือสูงสุด ซึ่งก็คือพระนั่นเอง เบญจางคประดิษฐ์ แปลว่า ตั้งไว้เฉพาะซึ่งองค์ห้า โดย เบญจ ซึ่งแปลว่า ๕ นั้น หมายถึง อวัยวะทั้ง ๕ อันได้แก่ หน้าผาก มือทั้งสอง และเข่าทั้งสอง โดยอวัยวะที่ว่านั้น เวลากราบจะต้องจรดลงให้ติดกับพื้น ซึ่งท่านี้จะปฏิบัติแตกต่างกันใน หญิง และ ชาย

สำหรับชายนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้

ท่าเตรียม ท่าเตรียมของชายนั้น จะเรียกว่า ท่าเทพบุตร 

ท่าเทพบุตร นั่ง คุกเข่าปลายเท้าตั้ง นั่งบนส้นเท้า ไม่นั่งบนเท้า แบบนั่งญี่ปุ่นนะครับ มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือแนบชิดติดกัน ส้นเท้าไม่แบะออก
จังหวะที่ ๑: อัญชลี ยกมือขึ้นประนมมือระหว่างอก ปลายนิ้วชิด เบนออกจากตัวพอประมาณไม่กางศอก
จังหวะที่ ๒ : วันทา ยกมือขึ้น นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดกลางหน้าผาก พร้อมกับค้อมศีรษะลง
จังหวะที่ ๓ : อภิวาท ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้ โดยศอกทั้งสองข้างต่อเข่า ขนานไปกับพื้น หลังไม่โก่ง หรือ ก้นไม่โด่งจนเกินงาม

  การกราบจะกราบ ๓ ครั้ง เมื่อครบสามครั้ง ยกมือขึ้นจบ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง 
  

 
สำหรับหญิงนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้  
ท่าเตรียม ท่าเตรียมของหญิงนั้น จะเรียกว่า ท่าเทพธิดา
ท่าเทพธิดา นั่งคุกเข่าปลายเท้าราบ นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือแนบชิดติดกัน ปลายเท้าไม่แบะออก  
จังหวะที่ ๑: อัญชลี ยกมือขึ้นประนมมือระหว่างอก ปลายนิ้วชิด เบนออกจากตัวพอประมาณไม่กางศอก

       จังหวะที่ ๒ : วันทา ยกมือขึ้น นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดกลางหน้าผาก พร้อมกับค้อมศีรษะลง

      จังหวะที่ ๓ : อภิวาท ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ห่างกันเล็กน้อย พอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้ โดยศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย
การกราบจะกราบ ๓ ครั้ง เมื่อครบสามครั้ง ยกมือขึ้นจบ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง 
การไหว้พระ
ประนมมือ นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดส่วนบนของหน้าผาก
ชาย ยืนตรง ค้อมตัวลงต่ำ พร้อมกับประนมมือขึ้นไหว้
หญิง ยืนตรง ย่อเข่าลงให้ต่ำ โดยถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลัง พร้อมกับประนมมือขึ้นไหว้
           การประเคนของแด่พระสงฆ์
ชาย ใช้ สองมือถือของเดินเข่า เข้าไปในระยะหัตถบาส (ระยะที่มือพระท่านเอื้อมมือถึง) ยกของขึ้นประเคนในลักษณะมือต่อมือได้เลย (คือยกให้ท่านรับได้เลย) เมื่อประเคนเสร็จ จะไหว้หรือกราบก็ได้ แล้วแต่กาลเทศะ เสร็จแล้วถอยออกโดยวิธีเดินเข่า (ถอยออกนะครับ ไม่ใช่กันหลังขวับ แล้วเปิดแน่บ)
หญิง ใช้ สองมือถือของเดินเข่า เข้าไปในเช่นเดียวกับผู้ชาย ยกของขึ้นประเคนโดยวางบนผ้าที่พระสงฆ์ทอดออกมา เมื่อประเคนเสร็จ ปฏิบัติเช่นเดียวกับชาย

ที่อยากจะเตือนหน่อยนึง คือ เวลาเข้าวัดเข้าวา ก็แต่งกายให้มิชิดหน่อยนะครับ
 
การถวายความเคารพแบบสากล

ชาย ใช้ วิธีถวายคำนับ โดยค้อมลำตัวตั้งแต่ศีรษะถึงเอวลงให้ต่ำพอสมควร (ไม่ต้องก้มลงไปจนมองเห็นเข็มขัดตัวเองนะครับ แบบนั้นไม่สง่า) เสร็จแล้วยืนตัวตรงลักษณะเดิม
หญิง ใช้ วิธีถวายความเคารพด้วยการถอนสายบัว แบบสากลนิยม ยืนตัวตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน วาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลัง พร้อมกับย่อตัวลง ลำตัวตรง หน้าตรง ปล่อยแขนตรงแนบลำตัว สายตาทอดลง เสร็จแล้วยืนตัวตรงลักษณะเดิม

การหมอบกราบ
ใช้แสดงความเคารพพระมหากษัตริย์ลงมาถึงพระ บรมวงศ์ในโอกาสเข้าเผ้าฯ ทั้งชายและหญิง ให้นั่งพับเีพียบเก็บปลายเท้า แล้วหมอบลงให้ศอกทั้งสองข้างถึงพื้น คร่อมเข่าี่ที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประสาน เรียกว่า หมอบเฝ้า เวลากราบให้ประนมมือ ก้มศีรษะลง หน้าผากแตะส่วนบนของมือ ถ้าท่านทรงพระราชทานสิ่งของให้ ให้ยกมือขวาขึ้นเอางาน ในลักษณะเดียวกับการรับปริญญาบัตร คือยกมือขวาขึ้น ฝ่ามือตั้งฉากกับพื้น กระดกข้อมือขึ้นเล็กน้อย แล้วตวัดมือมาอยู่ในท่าเตรียมรับสิ่งของ โดยทำมือเป็นอุ้งเล็กน้อย เมื่อรบสิ่งของมาแล้ว ให้ประคองสิ่งของนั้นไว้ แล้วกราบอีกครั้งหนึ่ง แล้วกลับมานั่งในท่าหมอบเฝ้า แล้วทรงตัวนั่งในท่าพับเพียบ หรือคลานถอยหลังออกไปจนพ้นที่ประทับ



 
การทูลเกล้าฯถวายของ
ของที่จะทูลเกล้าฯถวายนั้น ต้องเป็นของเบา และมีพานรองรับ โดยผู้ถวายใช้มือทั้งสองจับคอพาน
ในกรณีของผู้ชาย ให้ถือพานถวายคำนับ เดินเข้าไปห่างจากที่ประทับพอควร ลดพานลง ถวายคำนับ ย่อตัวก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เข่าซ้ายจรดพื้น แล้วยกพานขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เมื่อพระองค์ทรงหยิบของออกจากพานแล้ว ให้ลุกขึ้น ดึงเท้าขวากลับมาชิดเท้าซ้าย ถวายคำนับ แล้วเดินถอยหลังจนพ้นที่ประทับ
 สำหรับฝ่ายหญิง ให้ถือพานเช่นเดียวกัน แต่ในการถวายความเคารพ ให้ใช้การถอนสายบัวแบบสากลนิยม นอกนั้นปฏิบัติเหมือนฝ่ายชายทั้งหมด
การกราบผู้ใหญ่

ใช้กราบผู้อาวุโส หรือผู้มีพระคุณ ทั้งหญิงและชาย ให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า ทอดมือทั้งสองลงพร้อมกัน ให้แขนค่อมเข่้าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนม ค้อมตัวลง หน้าผากแตะส่วนบนของมือ กราบเพียงครั้งเดียว โดยไม่แบมือ เมื่อกราบเสร็จ ประสานมือดันตัวลุกขึ้นนั่งในท่าพับเพียบ
การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส
ประนมมือไหว้ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายจมูก ปลายนิ้วชี้จรดหว่างคิ้ว
ชาย ยืนตรง ต้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ พร้อมประนมมือขึ้นไหว้
หญิง ยืนตรง ถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลัง ย่อเข่าลงน้อยกว่าระดับการไหว้พระ พร้อมประนมมือขึ้นไหว้

การไหว้บุคคลทั่วไป
ประนมมือไหว้ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายคาง ปลายนิ้วชี้จรดปลายจมูก
ชาย ยืนตรง ต้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ พร้อมประนมมือขึ้นไหว้  
หญิง ยืนตรง ถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลัง ย่อเข่าลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ พร้อมประนมมือขึ้นไหว้


การไหว้ผู้ที่เสมอกัน
ยืนตัวตรง ประนมมือ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายคาง ปลายนิ้วชี้จรดปลายจมูก ทั้งชายและหญิง การไหว้จะไหว้พร้อม ๆ กันสำหรับมารยาทในการไหว้งาม ๆ ก็จบลงเพียงเท่านี้ มีแถมเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะได้ใช้บ้างเล็กน้อย ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เด็กไทยรุ่นใหม่ จะใส่ใจกับการไหว้กันมากขึ้นนะครับ ไหว้ให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น งามแท้แน่นอนครับ แต่ไหว้ผิด ๆ นี่ไม่งามจริง ๆ นะครับ เคยลองสังเกตกันดูหรือเปล่า

ความจริงแล้ว ที่ผมเขียนเรื่องนี้ ก็สืบเนื่องมาจากตอนที่ไปรับทุนที่มหาวิทยาลัยแหละครับ ผมไม่เห็นมีนักศึกษาคนใดเลยที่ไหว้ได้อย่างถูกต้องงดงาม ดู ๆ ไป ออกอาการเหมือนไก่จิกข้าวสาร คือผงกหัวหงึก ๆ ย่อตัวแบบเร็ว ๆ เหมือนเพลี๊ยกระโดด ไม่รู้จะรีบไปไหน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เด็กสาวที่ผมพูดถึงนี้ เธอได้ทุนวัฒนธรรมไทย อะไรสักอย่างนี่แหละครับ โอ้วพระเจ้า ถ้าผมเป็นอธิการบดี ผมสั่งงดทุนเดี๋ยวนั้น จนกว่าเธอจะไหว้ได้ถูกต้องเลยล่ะ